top of page

เราจะช่วยเหลือผู้ป่วยระยะสุดท้ายในเรื่องทางจิตใจอย่างไรได้บ้าง

  • รูปภาพนักเขียน: SKH Palliative Care Staff
    SKH Palliative Care Staff
  • 29 ก.ย. 2565
  • ยาว 1 นาที

อัปเดตเมื่อ 2 ต.ค. 2565

เมื่อเราต้องรับหน้าที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย แน่นอนว่าไม่ใช่แค่เรื่องทางสุขภาพกายของผู้ป่วยที่เราต้องคอยให้การดูแล แต่ยังรวมไปถึงเรื่องความเป็นอยู่และเรื่องทางจิตใจด้วย หากเรายังไม่มีประสบการณ์อาจจะรู้สึกกังวลใจ ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไรบ้างเมื่อเกิดสถานการณ์ต่างๆขึ้น ทางศูนย์ฯ จึงมีที่คำแนะนำที่สามารถจะนำไปใช้ได้ดังนี้




การรับมือกับอารมณ์ของผู้ป่วย

ผู้ป่วยในระยะท้ายมักรู้สึกกลัว มีความวิตกกังวล โกรธ ฯลฯ ผู้ให้การดูแลสามารถช่วยเหลือได้โดยการอยู่กับผู้ป่วย คอยเป็นผู้ฟังที่ดี และอาจแสดงออกถึงความเป็นห่วงและทำให้ผู้ป่วยรู้สึกสบายใจว่ามีเราอยู่ด้วยเสมอ เช่น

  • จับมือ บีบมือ โอบกอดอย่างนุ่มนวล หรือแม้แต่นั่งอยู่ข้างๆอย่างเงียบๆ

  • ยิ้ม หัวเราะไปด้วยกัน เมื่อมีเรื่องน่าขบขันเกิดขึ้น หรือเมื่อระลึกถึงความทรงจำที่น่าขบขัน อย่าให้ความเจ็บป่วยมาบดบังอารมณ์ขันไปหมด

  • ช่วยให้ผู้ป่วยยังคงความสัมพันธ์กับสังคม เพื่อนฝูง อาจช่วยต่อโทรศัพท์ให้ผู้ป่วยได้คุยกับญาติมิตรเพื่อนสนิท หรือช่วยเขียนจดหมาย/พิมพ์แชท/พิมพ์คอมเม้นในโซเชี่ยล ตามคำบอก เป็นต้น

  • รับฟัง รับรู้ เมื่อผู้ป่วยพูดเกี่ยวกับความกลัว และพร้อมที่จะแลกเปลี่ยนความรู้สึกของตนเองกับผู้ป่วย

  • ตระหนักว่าผู้ป่วยอาจอารมณ์เสียใส่คุณ ซึ่งเป็นการตอบสนองต่อความกลัวอีกแบบหนึ่งของผู้ป่วยเอง หากเกิดขึ้นบ่อยครั้งหรือรุนแรงจนคุณไม่สามารถรับมือได้ ให้ขอความช่วยเหลือจากคนอื่นตามเห็นสมควร

  • ถ้าผู้ป่วยไม่สามารถพูดได้ ให้หาวิธีสื่อสารโดยการเขียนหรือวิธีอื่น



ในขณะพูดคุยกับผู้ป่วย
  • ให้รับรู้ความคิดเห็นของผู้ป่วย โดยเก็บความคิดเห็นส่วนตัวไว้ก่อน พยายามไม่ตัดสิน ไม่ทำให้เป็นประเด็นโต้เถียงกัน

  • ประเด็นที่ไม่ชัดเจนให้ถามเพื่อป้องกันการเข้าใจผิดหรือตีความผิด

  • สนับสนุนให้ผู้ป่วยแสดงความคิดเห็น แต่หลีกเลี่ยงที่จะคะยั้นคะยอมากเกินไป

สิ่งที่ควรหลีกเลี่ยง
  • การให้คำสัญญาที่เป็นไปไม่ได้ เช่น บอกว่าลูกสาวจากอเมริกาจะกลับมาพรุ่งนี้

  • ให้ความเชื่อมั่นที่ไม่เป็นจริง เช่น หลอกผู้ป่วยว่าโรคกำลังดีขึ้นเรื่อยๆ

  • ไม่ตัดสินสิ่งที่ผู้ป่วยแสดงความคิดเห็นหรือกระทำ เนื่องจากทุกคนมีความคิดเห็นของตนเอง และควรได้รับความเคารพในความคิดนั้น

  • เมื่อมีการพูดคุยกันในเรื่องที่ทำให้คุณ(ในฐานะผู้ดูแล)ไม่สบายใจ เช่น การเสียชีวิต อย่าหลีกเลี่ยงที่จะคุย ควรพูดคุยแลกเปลี่ยนถึงความไม่สบายใจนั้น และอาจถามผู้ป่วยว่าต้องการคนอื่นที่อาจให้ความช่วยเหลือในประเด็นนั้นได้ดีกว่าคุณหรือไม่


ที่มา:

นภา หลิมรัตน์, ศรีเวียง ไพโรจน์กุล. (2559). 1 ผู้ให้การดูแล: พร้อม. ใน การดูแลผู้ป่วยระยะท้าย สำหรับผู้ให้การดูแล (พิมพ์ครั้งที่ 3). ขอนแก่น: โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา

Comments


Commenting on this post isn't available anymore. Contact the site owner for more info.

©2022 ศูนย์ดูแลแบบประคับประคอง โรงพยาบาลสกลนคร

bottom of page