การดูแลตนเองสำหรับผู้ดูแล
- SKH Palliative Care Staff
- 29 ก.ย. 2565
- ยาว 1 นาที
การดูแลแบบประคับประคอง เป็นการดูแลสำหรับผู้ป่วยทุกเพศทุกวัยที่ป่วยด้วยโรคที่ไม่สามารถรักษาได้ และจะมีชีวิตอยู่อีกไม่นาน(ส่วนใหญ่มักไม่เกินหกเดือน) โดยมีเป้าหมายหลักคือ ให้ผู้ป่วยในระยะสุดท้ายนี้ มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุดเท่าที่เป็นไปได้

ผู้ป่วยในระยะสุดท้าย จะได้รับการดูแลจัดการอาการไม่สุขสบายจากแพทย์และพยาบาลอย่างใกล้ชิด และมีความจำเป็นที่จะต้องมีผู้ให้การดูแลคอยช่วยเหลือ ผู้ให้การดูแลนี้อาจเป็นสมาชิกในครอบครัว หรือเพื่อน และอาจมีหลายคนก็ได้ การที่ใครจะตัดสินใจเข้ามาเป็นผู้ให้การดูแล ควรพิจารณาความเป็นไปได้และความพร้อมของตนเอง ได้แก่ สุขภาพ ความพร้อมทางกาย ใจ และอารมณ์ และต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ระหว่างคุณและผู้ป่วยด้วย คุณจะต้องให้เวลาในการดูแลผู้ป่วยอาจจะตลอดเวลา ซึ่งหมายความว่าคุณอาจต้องลางาน หรือแม้แต่ลาออกจากงาน

มีการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับความต้องการของผู้ให้การดูแล พบว่าสิ่งที่ผู้ให้การดูแลต้องการคือ การมีเวลาพักสั้นๆ ระหว่างวันสัก 10 ถึง 15 นาที เพื่อผ่อนคลาย โดยอาจออกไปเดินเล่นหรือพูดคุยกับเพื่อนฝูงบ้าง เป็นต้น นอกจากนี้ยังต้องการข้อมูลเกี่ยวกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วยอย่างตรงตามความจริง
ในระหว่างทำบทบาทเป็นผู้ให้การดูแลคุณควรดูแลตัวเองอย่างไร
ดูแลสุขภาพ เมื่อคนคนหนึ่งในครอบครัวป่วย มิได้ส่งผลต่อคนที่ป่วยเท่านั้น แต่ส่งผลกระทบต่อสมาชิกทุกคนในครอบครัวด้วย และหากคุณเป็นผู้ให้การดูแล คุณอาจทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยตลอดเวลาจนลืมดูแลสุขภาพของตนเอง และหากคุณละเลยการดูแลตนเองจนเกิดปัญหาสุขภาพขึ้น ย่อมส่งผลต่อผู้ป่วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
รับประทานอาหารทุกมื้อตามปกติ ร่วมกับครอบครัว แม้คุณจะรู้สึกเหนื่อยมากหรือยุ่งมากก็ตาม
มีขนมขบเคี้ยวสำรองไว้เสมอ ในกรณีที่หิวและยุ่งเกินกว่าจะพักรับประทานอาหาร
หาเวลาออกกำลังกาย ตามปกติ
เมื่อผู้ป่วยหลับ คุณควรหลับด้วย ในช่วงนั้นเพื่อพักผ่อน
ขอให้มีคนอื่นมาช่วย ดูแลผู้ป่วย หากเมื่อคืนคุณไม่ได้นอน
ข้อแนะนำข้างต้นควรถือปฏิบัติมากที่สุดเท่าที่เป็นไปได้ มิเช่นนั้นการที่ผู้ให้การดูแลทำงานหนักมากเกินไป จะส่งผลต่อสภาพร่างกายและจิตใจ ทำให้อ่อนล้าหงุดหงิดอารมณ์ไม่ดี ซึ่งมีผลกระทบทั้งต่อคนไข้และผู้ให้การดูแลเอง
แนวทางนี้เป็นแนวทางเบื้องต้นสำหรับกรณีทั่วๆไป ผู้ป่วยและผู้ดูแลแต่ละคนมีความแตกต่างกันไป บางกรณีอาจใช้ไม่ได้ทั้งหมด จึงควรมีการปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม
ที่มา:
นภา หลิมรัตน์, ศรีเวียง ไพโรจน์กุล. (2559). 1 ผู้ให้การดูแล: พร้อม. ใน การดูแลผู้ป่วยระยะท้าย สำหรับผู้ให้การดูแล (พิมพ์ครั้งที่ 3). ขอนแก่น: โรงพิมพ์คลังนานาวิทยา
Comments